วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ความรู้เรื่อง.....ป่า

ความรู้เรื่อง ป่า
ประเทศไทยได้มีการสงวนป่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2459 ตามนโยบายการสงวนป่าเพื่อให้เป็นสมบัติของชาติ และประชาชนตามแบบอย่างอารยะประเทศ ตามคำแนะนำของ นาย เอช.สเลด (MR.H.SLADE) อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของประเทศไทย เนื่องจากบ้านเมืองเจริญขึ้น จำนวนประชากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี  การใช้ไม้และการบุกรุกที่ป่าจึงทวีขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ในสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมายรับรอง    เจ้าพนักงานป่าไม้จะใช้วิธีการประกาศสงวนป่า ด้วยความเห็นชอบทางการปกครอง คือ ขอให้สมุหเทศาภิบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประกาศ และในบางท้องที่ได้จัดทำเสียเองก็มี

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2481 จึงได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ออกมาบังคับใช้ โดยมีหลักการสำคัญที่มอบอำนาจให้รัฐบาลประกาศเขตป่าที่สมควรกำหนดให้เป็นป่าสงวน  หรือป่าคุ้มครองได้เมื่อเห็นความจำเป็น รวมทั้งได้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ในเขตป่าที่ได้ประกาศเป็นป่าสงวนหรือป่าคุ้มครอง เพื่อเป็นการคุ้มครองรักษาให้มั่งคงถาวร
เนื่องจากพระราชบัญญัตินี้เป็นของใหม่ที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิของราษฎร กรมป่าไม้จึงได้นำประกาศ ออกคำชี้แจง แนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและป้องกันความเข้าใจผิดของราษฎร ในปีนี้จึงยังไม่มีการสงวนป่า

จนในปี พ.ศ. 2483 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าเป็นป่าคุ้มครองเป็นป่าแรก คือ ป่าบูกิ๊ตตำมะซู อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้มีพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ออกมาบังคับใช้ สืบเนื่องจากบรรดากฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ได้ประกาศออกใช้บังคับมาแล้วหลายฉบับล้วนเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น กรมป่าไม้จึงได้พยายามปรับปรุงยกร่างและนำมารวบรวมเป็นประมวลใหม่

ในปี พ.ศ. 2503 ได้มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 เพื่อต้องการกำหนดบริเวณให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย และรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า และกำหนดข้อห้ามในการล่าสัตว์

จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ได้มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ออกมาบังคับให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าว   ไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่า และให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ดังนั้น เพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียใหม่

ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ออกมาบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น พันธุ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขาให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐบาลและประชาชนสืบไป โดยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยประกาศเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505
 
จากนั้นในปี พ.ศ. 2507 ได้มีพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ออกมาบังคับใช้ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 เนื่องจากป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของชาติ และรัฐบาลได้กำหนดจุดหมายไว้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจะสงวนป่าไม้ไว้เป็นเนื้อที่ประมาณร้อยละ 50 ของเนื้อที่ประเทศไทย คือเป็นเนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมประมาณ 250,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 156 ล้านไร่

บัดนี้ ปรากฏว่า ป่าไม้ที่สงวน คุ้มครองไว้แล้ว และที่ยังมิได้สงวนคุ้มครองได้ถูกบุกรุกและถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก แม้ป่าไม้ในบริเวณต้นน้ำลำธารก็ถูกแผ้วถาง เผาทำลายไปเป็นอันมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง พื้นที่ดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขิน หรือเกิดอุทกภัยอันเป็นผลเสียหายแก่การเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและสงวนป่าที่ใช้บังคับอยู่มีวิธีการไม่รัดกุม เหมาะสมต้องเสียเวลาดำเนินการเป็นเวลานาน จึงจะประกาศกำหนดเป็นป่าสงวนหรือป่าคุ้มครองได้ เป็นเหตุให้บุคคลบางจำพวกฉวยโอกาสทำลายป่าไม้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ได้กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย ผู้กระทำผิดไม่เข็ดหลาบ เป็นช่องทองให้มีการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น รัฐบาลจึงเห็นเป็นการจำเป็นอันรีบด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการคุ้มครองป้องกันเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของชาติ และเพื่อมิให้อาชีพเกษตรกรรมของประชาชนส่วนใหญ่และเศรษฐกิจของประเทศถูกกระทบกระเทือนจากผลของการทำลายป่า

สำหรับความหมายของ “ป่า” นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 “ป่า” หมายความว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้

พุทธศักราช 2484 “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 “ป่า” หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 “อุทยานแห่งชาติ” หมายความว่า ที่ดินที่ได้กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ “ที่ดิน” หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย

สรุปได้ว่า
ที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ “ป่า” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
สำหรับป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ดินทั่วไป รวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ เกาะ และที่ชายทะเล โดยมีการประกาศกำหนดที่ดินดังกล่าวให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เป็นอุทยานแห่งชาติตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา

ดังนั้นการบุกรุก “ป่า” จะเกิดกับราษฎรได้ในกรณีราษฎรทำกินนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายที่ดิน อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือโดยได้รับในอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่