จากปัญหาการบุกรุกและครอบครองที่ดินของรัฐ นับวันจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่ดินมีการพิพาท เนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้แนวเขตดังกล่าวมีความถูกต้อง ตรงกันตามกฎหมายและใช้แผนที่กลางมาตราส่วนเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐ ทั้ง ๘ กระทรวงร่วมกับกระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการพิจารณากำหนดแนวเขตป่าไม้ใหม่ โดยจัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน ๑:๔,๐๐๐ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๕๘ เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ (One Map) เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐหรือเอกชนที่ต่อสนิทกัน ไม่ทับซ้อนหรือมีช่องว่าง สามารถนำไปกำหนดเป็นแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ในอนาคต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ มาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ (One Map) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตดินของรัฐฯ ได้พิจารณามีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐฯ ตามที่คณะอนุกรรมการเทคนิค ฯ นำเสนอ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นหลักเกณฑ์กลาง ใช้ยึดถือปฏิบัติ ในคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด
และเมื่อ ๒๑ มกราคม ๕๙ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดโครงการนี้ กอ.รมน.ภาค ๒ จึงขอให้ กอ.รมน.จว ทั้ง ๒๐ จว. และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานจัดทำแผนที่ ฯ จากทุกกระทรวงภายในจังหวัด ได้ร่วมกันประสานงานและร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างถูกต้อง เป็นรูปธรรม ด้วยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับนิติศาสตร์ หากมีความขัดแย้งกันในระเบียบข้อตกลง ให้ยึดกรอบหลักเกณฑ์ ๑๓ ข้อเป็นพื้นฐานสำคัญ และไม่ควรนำแนวเขตที่ดินของรัฐที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างหน่วยงานมาใช้ในการแก้ปัญหาเด็ดขาด หัวใจของการดำเนินการ คือ “รัฐต้องไม่เสียที่ดิน ชาวบ้านต้องไม่เดือดร้อน”
ซึ่งประโยชน์ที่เราจะได้รับร่วมกันจากโครงการฯ มีดังนี้
๑) ประเทศไทย มีแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน ถูกต้อง และเป็นรูปธรรม ในมาตรฐานเดียวกัน คือมาตราส่วน ๑ ต่อ ๔,๐๐๐
๒) เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าไม้
๓) เพื่อจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ในที่ดินของรัฐ สำหรับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐต่อไปในอนาคต
๔) ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในพื้นที่เป้าหมาย ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์อย่างน้อย ๔๐% ของพื้นที่ประเทศ ตามแผนแม่บท
๕) สามารถนำแนวเขตที่ได้รับไปสู่การรับรองแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐให้มีผลทางกฎหมาย และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวเขตที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และปัญหาการทับซ้อนที่ดินของรัฐและประชาชน
เรา ในฐานะคณะอนุกรรมการระดับภาคและจังหวัดเป็นหน่วยปฏิบัติที่จะต้องกำกับดูแลและนำไปถือปฏิบัติ ช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินการระดับภาคและระดับจังหวัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ต่อไป................ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น